DITP ปั้น 15 แบรนด์ไทยตัวจริง ก้าวผ่านความท้าทายสู่ตลาดโลกในยุคหลังโควิด-19

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในพิธีปิดโครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 6 หรือ “IDEA LAB 6: Thai Brand Incubation Program” ภายใต้แนวคิด “Be Real” ว่า โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่กรมได้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยเน้นส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ

ในปีนี้ IDEA LAB มีบทบาทในการส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้านวัตกรรมทางการเกษตร โดยการนำนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างความแตกต่างรวมถึงอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ของตนเอง ซึ่งจะต่อยอดไปถึงการสร้างงานให้กับชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green หรือ BCG Economy ที่กำลังเป็นแนวโน้มหลักของตลาดโลกในขณะนี้ โดยหวังให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์ ทั้งจากองค์ความรู้ คำแนะนำจากคณะผู้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญที่สุดคือคู่มือกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์ หรือ Brand Bible เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ยกระดับการสื่อสารแบรนด์ ตลอดจนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในเวทีการค้าโลก ด้วยแนวทางการสื่อสารการตลาดเชิงกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ

นางสาวประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวว่า โครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 6 มุ่งเน้นการผลักดันผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สามารถสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ แสดงความซื่อสัตย์ โปร่งใส และความรับผิดชอบต่อสังคม ได้สร้างโอกาสในการแสวงหาเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อหาช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่หลากหลาย สามารถขยายตลาดในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครองสัดส่วนทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 65 แบรนด์

ปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบ่มเพาะแนวทางกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของตนเอง จำนวนทั้งสิ้น 15 แบรนด์ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสินค้าเกษตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทอาหาร (Food) จำนวน 12 แบรนด์ และประเภทไม่ใช่อาหาร (Non-Food) จำนวน 3 แบรนด์ โดยตลอดระยะเวลาของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมได้ให้ความสนใจ ให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญที่ได้ให้การแนะนำเป็นอย่างดี และร่วมพัฒนากลยุทธ์การสร้างแบรนด์เฉพาะรายระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญในการค้นหาจุดแข็งและสร้างความแตกต่าง รวมไปถึงแนวทางการสื่อสารแบรนด์ จัดทำแผนกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์เพื่อนำไปใช้ในอนาคต นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีการทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการรุ่นที่ 1 - 5 จำนวน 18 แบรนด์เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิผลของการนำกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ไปปรับใช้ และกระชับเครือข่าย เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการด้วย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment