{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ถูกพูดถึงมากขึ้นและมีแนวโน้มเร่งตัว นับตั้งแต่การเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2022 ซึ่งเป็นการเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการของนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐฯ ในรอบ 25 ปี ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวันเพิ่มสูงขึ้น โดยถึงแม้ว่านางแนนซีจะได้เดินทางกลับสหรัฐฯ เป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือนแล้ว แต่ความตึงเครียดยังมีให้เห็นอยู่เป็นระยะในเวทีการเมืองโลก เช่น การแถลงการณ์ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ว่ารัสเซียยึดมั่นในหลักการจีนเดียวและประณามการยั่วยุของสหรัฐฯ ในกรณีช่องแคบไต้หวันหลังการพูดคุยนอกรอบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในวันที่ 15-16 กันยายน 2022 การออกยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงาน National security strategy ปี 2022 ในเดือนกันยายน ซึ่งมองว่าจีนเป็นคู่แข่งการเป็นผู้นำโลกที่สำคัญของสหรัฐฯ รวมถึงออกมาตรการห้ามการส่งออกชิปขั้นสูงไปจีนของสหรัฐฯ และห้ามให้บุคลากรสัญชาติสหรัฐฯ ช่วยเหลือจีนในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2022 อีกทั้ง ล่าสุดสหรัฐฯ และไต้หวันจะจัดการเจรจาการค้า 2 ฝ่ายที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ในวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2022 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายในการบรรลุข้อตกลงในด้านต่าง ๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งทางการจีนได้แถลงการณ์ต่อต้านการเจรจานี้อย่างชัดเจน
ในระยะถัดไป EIC มองว่า เศรษฐกิจโลกจะแตกย่อย (Fragmentation) มากขึ้นระหว่างขั้วสหรัฐฯ
และจีน ส่งผลให้กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ชะลอตัวลง โดยในรายงาน US National security strategy ปี 2022 สหรัฐฯ มองว่าภัยต่อความมั่นคงของประเทศมาจาก 1) การแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างชาติประชาธิปไตย (Democracy) และชาติอัตตาธิปไตย (Autocracy) โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีเจตนาและความสามารถสูงขึ้นต่อเนื่องในการเปลี่ยนระเบียบระหว่างประเทศ (International order) ไปในด้านที่ส่งผลลบต่อสหรัฐฯ และ 2) ความท้าทายข้ามชาติ (Transnational challenges) เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหาร และผู้ลี้ภัย เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นความเสี่ยงร่วมกันต่อเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ
ดังนั้น ในการรับมือกับ 2 ภัยนี้ สหรัฐฯ มองว่ากระแสโลกาภิวัตน์ในบริบทเดิมที่มีความเสรีค่อนข้างมาก ไม่เหมาะสมต่อการรับมือกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากคำนึงถึงเพียงประสิทธิภาพและต้นทุนต่อธุรกิจ แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักต่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานและประเทศมากเท่าที่ควร ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องเน้นการพึ่งพาตนเองหรือประเทศพันธมิตรเป็นหลัก และกีดกันไม่ให้ประเทศที่เป็นภัยเอาเปรียบและแข่งขันกับสหรัฐฯ จึงนำไปสู่ การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 นโยบายหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ และการสร้างเครือข่ายชาติพันธมิตรเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศ
ทางฝั่งจีน การเข้ามารับตำแหน่งสมัยที่ 3 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีแนวโน้มทำให้การแตกขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นในระยะต่อไป จากนโยบายส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของจีนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Made in China 2025 และกลยุทธ์แบบผสมผสานให้มีการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual circulation) ที่ต้องมีความสมดุลของเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศที่เริ่มใช้อยู่แล้วจะยังคงเป็นแผนระยะยาวของจีน รวมถึงประเด็นความขัดแย้งกับไต้หวันที่ยืดเยื้อและมีทีท่าตึงเครียดขึ้นจะเป็นอีกประเด็นที่เร่งการแตกขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สีจิ้นผิงได้เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาและพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี โดยรัฐบาลจีนจะเร่งการลงทุนใน Research & Development การสร้างเครือข่ายศูนย์วิจัยภายในประเทศ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมธุรกิจและระบบสิทธิบัตรสินทรัพย์ทางปัญญา เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา จีนพัฒนาอุตสาหกรรมได้ช้ากว่าเป้าหมาย ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจีนตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตชิปให้เพียงพอต่ออุปสงค์ภายในประเทศ 70% ในปี 2025 ตามแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 แต่ที่ผ่านมายังผลิตได้ช้ากว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทำให้การพึ่งพาตนเองของจีนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยิ่งช้าลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตชิป 5nm ซึ่งเป็นชิปขั้นสูงสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจีนยังไม่มีศักยภาพการผลิตชิปนี้เองภายในประเทศ เนื่องจากต้องพึ่งพาเครื่องจักรและโรงงานสหรัฐฯ หรือชาติพันธมิตร
ล่าสุดในวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้มีการประชุมนอกรอบร่วมกันก่อนการประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีข้อสรุปว่า การแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมีแนวโน้มที่จะยกระดับมากขึ้นผ่านการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพในประเทศและการร่วมมือกับพันธมิตร สำหรับประเด็นข้อพิพาทไต้หวัน จีนระบุว่าเรื่องนี้เป็น First Red Line ที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่สหรัฐฯ ยังยืนยันในหลักการจีนเดียว (One China Policy) โดยทั้งสองฝ่ายจะให้ความสำคัญต่อการรักษาสันติภาพและไม่ต้องการให้สถานการณ์ยกระดับไปสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะในประเด็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศจะเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างกันและให้ความร่วมมือในประเด็นสำคัญของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาค และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้จีนมองว่ามาตรการกีดกันทางการค้าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และการแข่งขันไม่จำเป็นต้องเป็น Zero Sum Game หรือไม่จำเป็นว่าฝ่ายหนึ่งได้เปรียบฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ แต่เป็นไปได้ว่าการแข่งขันจะทำให้ทั้งสองประเทศสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้
ผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันต่อเศรษฐกิจไทย
ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้ในหลายช่องทาง ได้แก่
(1) การค้าระหว่างประเทศที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าและส่งออกกับไต้หวัน รวมถึงกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการขนส่งและโลจิสติกส์จะทำได้ลำบากขึ้น การค้าของไทยมีความเชื่อมโยงสูงกับจีนและไต้หวัน โดยจีนเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 2 ของไทย (12% ของมูลค่าส่งออกสินค้า) และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 1 (23% ของมูลค่านำเข้าสินค้า) ในขณะที่ไต้หวันเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 17 (1.6% ของมูลค่าส่งออกสินค้า) และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 6 ของไทย (3.9% ของมูลค่านำเข้าสินค้า) นอกจากนี้ ไทยยังพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายชนิดจากจีนและไต้หวัน (รวมคิดเป็น 24.5% ในปี 2021) อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกไทยบางกลุ่มจะได้รับอานิสงส์ หากการค้าระหว่างจีนและไต้หวันปรับลดลงหรือหยุดชะงัก จนจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นทดแทน (Product substitution) โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสได้รับประโยชน์ค่อนข้างชัดเจน เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องยนต์ เนื่องจากทั้งจีนและไต้หวันพึ่งพาสินค้ากลุ่มนี้ระหว่างกันค่อนข้างสูง และไทยมีส่วนแบ่งตลาดของสินค้าดังกล่าวทั้งในจีนและไต้หวัน
(2) การลงทุนระหว่างประเทศที่จะแบ่งขั้วมากขึ้น เนื่องจากบริษัทข้ามชาติอาจหันมาลงทุนในประเทศ (Reshoring) หรือในภูมิภาคใกล้เคียง (Regionalization) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชะงักของอุปทาน (Supply-chain disruption) ในเวลาที่มีความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) สูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ในระยะเปลี่ยนผ่าน ภูมิภาคอาเซียนโดยรวมที่ยังคงบทบาทเป็นกลาง (Impartiality) จะยังได้รับประโยชน์จากการย้ายหรือขยายฐานการผลิตออกจากจีนของธุรกิจนานาชาติต่าง ๆ นอกจากนี้ ในกรณีที่จีนและไต้หวันลดการค้าระหว่างกัน ไทยอาจได้รับประโยชน์บางส่วนในอนาคต ในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk Drive: HDD) และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับสองในตลาดโลกรองจากจีน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเป็นโอกาสให้ไทยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน (FDI) เข้าประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยมีโอกาสได้รับโอกาสในการทดแทนสินค้าส่งออกของจีนในไต้หวัน ซึ่งอาจนำไปสู่การลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตเพิ่มเติมในไทย
(3) การเดินทางระหว่างประเทศที่ยังได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด โดยแม้เส้นทางบินระหว่างประเทศหลายเส้นทางจะถูกยกเลิกชั่วคราวในช่วงที่มีการซ้อมรบของจีนในทะเลจีนใต้ แต่ปัจจุบันก็กลับมาให้บริการตามปกติแล้ว
ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีโอกาสส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีน (ภายหลังที่จีนทยอยผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid และเปิดประเทศให้มีการเดินทางระหว่างประเทศ) มีแนวโน้มเลือกเดินทางท่องเที่ยวไปยังภูมิภาคอื่นแทนการเดินทางไปยังประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น โดยประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทยถือเป็นหนึ่งจุดหมายการเดินทางสำคัญ
ที่นักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวันตึงเครียดขึ้นและมีการจำกัดหรือปิดเส้นทางการเดินทางระหว่างประเทศขึ้นอีก ก็มีแนวโน้มส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและไต้หวันเดินทางระหว่างประเทศลดลง ทั้งนี้จากข้อมูลก่อนวิกฤตโควิดในปี 2019 นักท่องเที่ยวจีนและไต้หวันเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางเข้าไทยมากถึง 781,674 คน คิดเป็น 2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด สร้างรายได้ 33,535.5 ล้านบาท ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยสูงสุดราว 11 ล้านคน คิดเป็น 27.9% สร้างรายได้ 531,576.7 ล้านบาท
ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันผ่าน 3 ช่องทางที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในที่สุด โดยห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญที่สุดในโลก อีกทั้ง เซมิคอนดักเตอร์ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่และเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าสำคัญหลากหลายชนิด อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไอที รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ ทั้งนี้ EIC แบ่งผลกระทบของความรุนแรงสู่เศรษกิจไทยออกเป็น 3 กรณี
ในกรณีแรก เหตุการณ์กลับเข้าสู่ Status Quo ซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงที่สุด การแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Decopling) เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี โดยจีนมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์เฉพาะในสินค้าที่ไม่สำคัญมากต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและทดแทนได้ง่าย (สินค้าเกษตร/ประมง) ไม่คว่ำบาตรสินค้าสำคัญ (เซมิคอนดักเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์) มีการซ้อมรบเพียงชั่วคราวและสถานการณ์ความรุนแรงไม่ยกระดับมากขึ้น ทำให้ความตึงเครียดและข้อพิพาทระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีอยู่อย่างจำกัดและขยายตัวได้ที่ 3.0% และ 3.8% ในปี 2022 ตามลำดับ EIC มองว่าในกรณี Status Quo ในระยะสั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคมีค่อนข้างจำกัด แต่ในระยะยาวการแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าโลกจาก Trade substitution effect และ Investment diversion จากการศึกษาของ EIC พบว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนมีโอกาสได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก โดยการเติบโตของ GDP ของประเทศในอาเซียนในระยะยาวจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.1% ต่อปี ขณะที่ GDP ในระยะยาวของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.07% ต่อปี
ในกรณีที่สอง จีนใช้มาตรการปิดล้อมน่านน้ำไต้หวันและควบคุมการเข้าออกสินค้า แม้ยังไม่เกิดสงครามเต็มรูปแบบ แต่ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้นมาก โดยจีนปิดล้อมน่านน้ำไต้หวันและควบคุมการเข้าออกของเรือสินค้า ทำให้การเดินทางและขนส่งสินค้าจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงบริเวณช่องแคบไต้หวัน ค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้น ฝั่งสหรัฐฯ และพันธมิตรตอบโต้โดยใช้มาตรการคว่ำบาตรจีนและส่งเรือรบเข้ากดดัน ในกรณีนี้ห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบรุนแรง เศรษฐกิจและการค้าโลกจะขยายตัวได้เพียง 2.4% และ 0.8% ตามลำดับ จากการศึกษาโดยใช้ Computable General Equilibrium Model พบว่า ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวจากกรณีฐาน 0.8% ต่อปีในช่วงปี 2022-2023 (รูปที่ 5) โดยกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวลดลง 0.6%
กรณีที่สาม จีนใช้กำลังทหารโจมตีไต้หวันและมีการเผชิญหน้ากันเป็นระยะ ในกรณีนี้การคว่ำบาตรของทั้งสองฝั่งทำให้การแบ่งขั้ว (Decoupling) เกิดขึ้นอย่างชัดเจน จีนตัดความสัมพันธ์และระงับการส่งออกนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และพันธมิตร การขนส่งสินค้าในภูมิภาคและห่วงโซ่อุปทานจะได้รับผลกระทบในวงกว้าง เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 1.4% ในขณะที่การค้าโลกอาจหดตัวมากถึง -6.4% ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวจากกรณีฐาน -1.6% ต่อปีในช่วงปี 2022-23 (รูปที่ 5) โดยกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวลดลง -1.4%
ภาครัฐควรวางแผนรับมือการแบ่งขั้วเศรษฐกิจและปรับตัวต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป
การแบ่งขั้วจะส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจการค้าโลกเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างรวดเร็วทำให้ภาครัฐของไทยจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อรับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ และความไม่แน่นที่อาจเกิดขึ้น เริ่มต้นจาก
(1) เร่งการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยถึงแม้ไทยอาจได้ประโยชน์จากแนวโน้มการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน แต่ไทยจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย ตลาดใหม่ ๆ ที่ใกล้และเป็นมิตรต่อสหรัฐฯ เช่น กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา และการอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศในประเทศพัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้น ไทยควรออกมาตรการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เจาะจงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเกิดการย้ายถิ่นการผลิต ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ปรับตัวได้ทันต่อเทคโนโลยีโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อนำไทยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกในเทคโนโลยีขั้นสูง
(2) เพิ่มความหลากหลายของแหล่งซัพพลายเออร์และผู้ซื้อ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานจะหยุดชะงักจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการกีดกันทางการค้า การโจมตีทางไซเบอร์ หรือเหตุความรุนแรงระหว่างประเทศ ภาครัฐและบริษัทไทยอาจพิจารณาจัดหาวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อลดการกระจุกตัว ขณะเดียวกัน บริษัทไทยอาจพิจารณาใช้ระบบการผลิต Just In Case ที่เน้นการผลิตและตุนสินค้าคงคลังให้เพียงพอต่อสถานการณ์การค้า อีกทั้ง ความต้องการของสินค้าจากผู้ซื้อที่เปลี่ยนไป
(3) ปรับตัวให้ทันต่อระเบียบข้อบังคับโลกที่เปลี่ยนไป เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกฎระเบียบใหม่เพิ่มมากขึ้นจากการที่ชาติมหาอำนาจพยายามกำหนดระเบียบระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งหากไทยไม่ปรับตัวให้ทันต่อระเบียบข้อบังคับใหม่ได้อย่างทันท่วงที จะเกิดภาระต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูงขึ้น หรือในกรณีรุนแรง อาจสูญเสียตลาดสำคัญไปได้
(4) เตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายข้ามชาติ โดยเฉพาะด้าน ESG เนื่องจากการลงทุนด้าน ESG มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตและเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติ หากไทยไม่ปรับนโยบายของประเทศให้ตอบสนองต่อการลงทุน ESG อาจส่งผลให้ไทยไม่ได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากเท่าที่ควร เนื่องจากบริษัทข้ามชาติอาจเลือกประเทศอื่น ที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่า หรือประเทศที่มีสิทธิแรงงานดีกว่า เป็นต้น
อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าการแบ่งขั้วของเศรษฐกิจโลกจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เนื่องจากแต่ละประเทศเองก็ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งต็มรูปแบบเช่นกัน โดยในรายงาน National security strategy ปี 2022 ของสหรัฐฯ ระบุว่าต้องการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกแตกเป็นขั้วที่ตายตัวและจะเคารพการตัดสินใจของชาติต่าง ๆ ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของตนเอง ทำให้การค้าและการลงทุนโลกอาจไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยจากการแบ่งขั้วแต่จะมีจุดหมายปลายทางที่เปลี่ยนไป ซึ่งไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือเพื่อให้ได้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางนั้นและได้รับประโยชน์สูงสุด จากโลกที่กำลังแตก…(ขั้วเศรษฐกิจ)
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/Decoupling-151122
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS