{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติโดยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มากถึงกว่า 1.5 แสนล้านบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2022 นอกจากนี้ยังเริ่มเห็นข้อตกลงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น BYD เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Amazon Web Service เพื่อทำ Data center ซึ่งนับเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หลายฝ่ายสรุปว่าการกลับเข้ามาของต่างชาติเช่นนี้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้น KKP Research ประเมินว่าเมื่อมองในมุมกว้างยิ่งขึ้น สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นมากนัก อีกทั้งยังมีแนวโน้มน่ากังวลในระยะยาว ดังต่อไปนี้
1) การกลับเข้ามาซื้อหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในปีนี้เกิดขึ้นจากผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดหุ้นโลกและจีนที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจและตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมากก่อนหน้านี้ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยแทบยังไม่ฟื้นตัว ทำให้โดยเปรียบเทียบแล้ว ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยดูจะให้อัตราผลตอบแทนดีกว่า จนนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจไทยมากกว่าจีนและโลก ด้วยเหตุนี้ เงินที่ไหลเข้าไทยในช่วงนี้ จึงไม่ได้สะท้อนถึงการปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจโดยตรง และหากตลาดหุ้นโลกกลับมาเติบโตได้ดี เงินก็สามารถไหลออกจากประเทศได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อย้อนดูตัวเลขจะเห็นแนวโน้มการขายหุ้นในไทยต่อเนื่อง 8 ปีมูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาท
2) แม้ประเทศไทยจะได้รับเม็ดเงินลงทุนทางตรงมากขึ้นในปีนี้ แต่ไทยมีสัดส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างชาติที่ลดลงมาตลอดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน KKP Research เคยออกรายงานประเมินว่าความน่าสนใจของไทยต่อนักลงทุนต่างชาติลดลงเรื่อย ๆ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเงินลงทุนเข้ามาเลย ในทางกลับกัน แม้ในช่วงที่ผ่านมาไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติบ้าง แต่แนวโน้มยังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งน่ากังวลเพราะการลงทุนทางตรงเป็นการลงทุนระยะยาวซึ่งสะท้อนถึงพื้นฐานเศรษฐกิจมากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น
3) ต่างชาติมีแนวโน้มเลิกกิจการในไทยเพิ่มมากขึ้นมูลค่ากว่า 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ นับตั้งแต่ปี 2010 – 2022 นอกเหนือจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นธุรกิจต่างประเทศเริ่มถอนการลงทุนออกจากไทย เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจรายย่อยของภาคธนาคาร หรือแม้แต่ข่าวที่โรงงานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เริ่มย้ายออกจากประเทศไทย
ไม่ใช่แค่ต่างชาติ แต่คนไทยก็ลงทุนในไทยลดลงเรื่อย ๆ
บริษัทไทยมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนใน ASEAN และ EU ในขณะที่นักลงทุนในตลาดการเงินมีการซื้อกองทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นและให้ความสนใจหุ้นไทยลดลงต่อเนื่องเช่นกันโดยจะเห็นตัวเลขการซื้อกองทุนในกลุ่มหุ้นในประเทศลดลงอย่างมากจากซื้อสุทธิเฉลี่ย 78,000 ล้านบาทในปี 2013 – 2019 มาเป็นขายสุทธิ 38,000 ล้านบาทในช่วงปี 2020 - 2022 ในขณะที่การซื้อกองทุนหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยประมาณ 37,000 ล้านบาทในปี 2013-2019 มาเป็นถึง 183,000 ล้านบาทในปี 2020 -2022 สะท้อนภาพชัดเจนว่าผลตอบแทนของการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานานทำให้แม้แต่นักลงทุนไทยก็ให้ความสนใจกับการลงทุนในต่างประเทศมากกว่าการลงทุนในไทย
ทศวรรษที่หายไปของเศรษฐกิจไทย
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างในหลายมิติ เมื่อมองไปข้างหน้าโครงสร้างประชากรไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลโดยประชากรในกลุ่มสูงอายุมากกว่า 75 ปีจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคนในอีกแปดปีข้างหน้าในขณะที่ประชากรวัยเด็กและวันทำงานจะลดลงกว่า 3.6 ล้านคน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจที่จะลดลง ซึ่งในกรณีของไทยจะเจอปัญหาที่รุนแรงกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว คือ 1) ประเทศไทยเจอปัญหา “แก่ก่อนรวย" และปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงขึ้น 2) ภาระทางการคลังสำหรับคนสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีข้างหน้า 3) ความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิตจะปรับตัวแย่ลงอย่างมากจากกำลังแรงงานที่ขาดแคลน
ในขณะที่ฝั่งของนโยบายในประเทศไทยมีการพัฒนาที่ช้ามากเมื่อเทียบกับต่างประเทศประกอบกับสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศอันดับ 1 ของภูมิภาคอีกต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รายได้ต่อหัวของไทยเติบโตได้ช้ามากที่สุดประเทศหนึ่งใน ASEAN คือเติบโตเฉลี่ยเพียง 1.4% ต่อปีเท่านั้นในช่วงปี 2014 -2021 ในมิติอื่น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย จะพบว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น หรือปรับตัวแย่ลง ในขณะที่อินโดนีเซียมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ จากข้อมูลของ World Bank การควบคุมปัญหาคอร์รัปชั่นที่อินโดนีเซียเคยแย่กว่าไทยมากแต่สามารถพัฒนาขึ้นมาจนแซงประเทศไทยได้แล้ว การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงานที่เริ่มพัฒนาขึ้นจนดีกว่าประเทศไทย การเปรียบเทียบกับอินโดนีเซียสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าการพัฒนาการของไทยมีความล่าช้าอย่างไร และทำไมไทยจึงต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังติดค้างอยู่โดยเร็ว
นอกจากนี้แนวโน้มของโลกที่เข้าสู่ยุค Deglobalization โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความมั่นคงของวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต เริ่มทำให้เห็นกระแสการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ หรือไปสู่ประเทศที่มีแร่สำคัญที่ใช้ในการผลิตโดยตรง ซึ่งจะเริ่มทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งไทยเคยพึ่งพาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในอดีต
ธุรกิจไหนตาย ธุรกิจไหนรอด
ข้อมูลด้านการลงทุนในหลายมิติกำลังสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่ทำให้ตลาดในประเทศมีการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ ธุรกิจไทยในช่วง 10 ปีหลังจากนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเศรษฐกิจอย่างชัดเจนจะกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่มีความท้าทายมากขึ้นและธุรกิจที่เคยเติบโตได้จะต้องเริ่มปิดตัวลง
KKP Research ประเมินว่าธุรกิจไทยกำลังจะมีโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลตามโครงสร้างประชากร โดยจากโครงสร้างประชากรธุรกิจที่อาศัยอุปสงค์จากกลุ่มคนวัยเด็ก วัยทำงาน วัยสร้างครอบครัว และวัยกลางคน จะมีอุปสงค์ที่ลดลงอย่างมาก โดยหดตัวลงถึงประมาณ 10% ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่พึ่งพาอุปสงค์จากคนสูงอายุจะเติบโตขึ้นอย่างมากโดยตลาดจะขยายตัวมากกว่า 30% ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุด คือ ยานยนต์ การศึกษา เอนเตอร์เทนเมนท์ ร้านอาหาร ตัวอย่างที่เห็นได้ค่อนข้างชัด คือ ในช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเริ่มมีการปิดตัวบางสาขาจากจำนวนนักศึกษาที่ลดลง ในขณะที่ธุรกิจที่จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นมากที่สุด คือ สุขภาพ บริการ สาธารณูปโภค ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้สูงอายุมีความต้องการมากที่สุด สอดคล้องกับตัวเลขการขายหุ้นของนักลงทุนที่มีการขายสุทธิระหว่างปี 2015 -2019 ในบางกลุ่มธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของไทย เช่น ภาคอุตสาหกรรม ธนาคาร สินค้าอุปโภคบริโภค ตอกย้ำว่าการขายหุ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่ทำให้เศรษฐกิจและธุรกิจหลายกลุ่มในไทยชะลอตัวลง
ห้าการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ
5 การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะส่งผลอย่างมากต่อธุรกิจในประเทศ คือ 1) การเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจสำหรับเด็กไปสู่ธุรกิจสำหรับคนสูงอายุ ธุรกิจสำหรับเด็ก เช่น โรงเรียนจะหดตัว ธุรกิจสำหรับคนสูงอายุ เช่น โรงพยาบาลจะขยาตัวอย่างมาก 2) การเปลี่ยนผ่านจากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคบริการ ในปี 2050 แรงงานไทยจะมีจำนวนลดลง 11.5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยไม่สามารถเป็นฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้ 3) จากนอกเมืองสู่เมืองใหญ่ ประชากรที่ลดลงจะทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยไม่สามารถรักษาความเป็นเมืองไว้ได้และมีโอกาสเกิด oversupply ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ 4) จากความต้องการเงินกู้เงินเพื่อครอบครัวและธุรกิจ สู่ความต้องการบริการด้านการเงินเพื่อจัดการความมั่งคั่งเพื่อเตรียมเกษียณอายุ 5) จากเงินบาทแข็งค่าสู่ความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่า จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิต
ทิศทางนโยบาย
KKP Research ประเมินว่าโจทย์ใหญ่สำคัญนอกจากการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมแล้วประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องก้าวผ่าน คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงอายุ และการหาทางเลือกเชิงกลยุทธ์ใหม่กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว คือ
1) ภาครัฐต้องพิจารณาเปิดเสรีนโยบายการย้ายถิ่นฐาน (Immigration Policy) เพื่อชดเชยปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีทักษะ
2) การเปิดเสรีในภาคบริการเพื่อชดเชยการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม ในอนาคตค่อนข้างชัดเจนว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากทั้งการเปลี่ยนแปลงในประเทศและการเปลี่ยนแปลงของบริบทของโลกาภิวัตน์ในระดับโลก การแข่งขันในภาคบริการจะช่วยส่งเสริมการลงทุนและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการไทย
3) การปฏิรูปทางการเมืองเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่นและเพิ่มการแข่งขัน การพัฒนาในเรื่องอื่นๆจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการปฏิรูปสถาบันการเมืองที่นำไปสู่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และการลดการคอร์รัปชัน จะเป็นทางออกสำคัญของเศรษฐกิจไทย
บทความฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในข้อมูลที่ KKP Research ต้องการชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายประเด็นกำลังจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งถูกสะท้อนผ่านข้อมูลจากตลาดการเงิน ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ควรมองข้าม และเป็นเหมือนสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนในระยะยาว
(อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS