{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
มนุษย์เดินหน้าคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตทุกด้านอย่างไม่หยุดยั้ง จนเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อการดำรงชีวิต
แต่เหรียญทุกเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ หากมองอีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีหรือสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ได้สร้าง “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” (Waste of electrical and electronic equipment: WEEE) หรือของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกมามากมาย ขยะเหล่านี้ต้องใช้ต้นทุนสูงในการกำจัด หากกำจัดไม่ถูกวิธีจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทำให้ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว พยายามผลักภาระเหล่านี้ออกไปยังประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังมองว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เป็นของที่มีมูลค่า สามารถสร้างรายได้มหาศาล โดยไม่ทันคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาภายหลัง
ในช่วงปี 2523 – 2533 ปัญหาการลักลอบนำขยะหรือของเสียอันตรายไปทิ้งยังประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (The United Nation Environment Programme: UNEP) ได้จัดประชุมนานาชาติและเปิดให้ประเทศต่าง ๆ ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2532 ณ นครบาเซล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อจัดทำร่างอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดนและการกำจัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านของเสียอันตรายให้มีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมายและการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการของเสียอันตราย
สนธิสัญญาหรืออนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2535 ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมลงนามแล้วทั้งหมด 53 ประเทศ โดยมีประเทศเฮติและสหรัฐอเมริกาที่ร่วมลงนามแต่ยังไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการปฏิบัติตามสนธิสัญญา และมีภาคีสมาชิก 186 ประเทศ ส่วนประเทศไทยให้สัตยาบัน (Ratification) เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซล เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 และอนุสัญญามีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2541
อนุสัญญาบาเซล กำหนดห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายหรือขนส่งสารเคมีหรือของเสียประเภทต่างๆ ของเสียอันตรายที่ถูกควบคุมอยู่ภายใต้อนุสัญญาบาเซล ประกอบด้วย
1. ของเสียอันตราย
(a) ของเสียอันตราย 45 ประเภทตามภาคผนวก 1 (Y1-45) หรือของเสียที่มีลักษณะอันตรายตามภาคผนวก 3 (H1-13)
(b) ของเสียอันตรายตามภาคผนวก 8 หรือ List A มี 61 รายการ
(c) ของเสียที่ได้รับการยกเว้นให้มีการเคลื่อนย้ายเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ได้ตามภาคผนวก 9 หรือ List B
2. ของเสียที่ไม่เข้าข่าย (a) แต่ถูกกำหนดโดยกฎหมายภายในประเทศภาคีสมาชิกตามอนุสัญญาฯ
3. ของเสียอื่นๆ คือของเสียที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษที่ระบุในภาคผนวก 2
Y46 ของเสียที่เก็บจากครัวเรือน
Y47 กากที่เกิดจากการเผาของเสียจากบ้านเรือน
ประเภทของเสียอันตรายตามภาคผนวกต่างๆ ดังนี้
ส่วนของเสียที่ไม่ได้ถูกควบคุมอยู่ภายใต้อนุสัญญาบาเซล คือ ของเสียจากการปฏิบัติงานตามปกติของเรือและของเสียกัมมันตรังสี อนุสัญญาบาเซลได้กำหนดไม่ให้มีการขนส่งเคลื่อนย้ายของเสียตามภาคผนวก 8 หรือ List A จากกลุ่มประเทศ OECD ไปยังประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก OECD แต่ยกเว้นให้สามารถขนส่งหรือเคลื่อนย้ายของเสียที่อยู่ใน List B เช่น ทองแดง ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เศษเหล็ก เซรามิก พลาสติก และกระดาษ ฯลฯ เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์หรือนำไปใช้ใหม่ได้
การควบคุมตามอนุสัญญาบาเซล จะเริ่มตั้งแต่ก่อนการนำเข้าส่งออก หรือนำผ่านของเสียอันตรายไปยังประเทศอื่น จะต้องแจ้งรายละเอียดและขออนุญาตตามขั้นตอนจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้นๆ การขนส่งต้องบรรจุหีบห่อและต้องติดป้ายด้วยวิธีการตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งทำประกันภัยและรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในกรณีเกิดการรั่วไหลปนเปื้อน และต้องนำกลับประเทศผู้ส่งออกภายใน 30 วัน
ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังจะล้นโลก
United Nations University (UNU) เผยรายงาน “The Global E-waste Monitor 2017” พบว่า ในปี 2559 ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีจำนวนมากถึง 44.7 ล้านเมตริกตันต่อปี เทียบเท่ากับ 4,500 หอไอเฟล และประมาณการณ์ว่าในปี 2561 ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 49.8 ล้านเมตริกตัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 52.2 ล้านเมตริกตัน ในปี 2564
ขณะที่ประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการเก็บสถิติของเสียอันตรายจากชุมชนทั่วประเทศ พบว่า ของเสียอันตรายจากชุมชนส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องพิมพ์/เครื่องโทรสาร และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ จากชุมชน เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี เป็นต้น
แนวทางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีโทรศัพท์มือถือเก่าตกค้างอยู่ในครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 200 ล้านเครื่อง หากนำมารีไซเคิลอย่างถูกวิธีจะมีมูลค่ามหาศาล เช่น โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ประกอบด้วย ทองแดง 19% และเหล็ก 8%
กรมควบคุมมลพิษ ได้ระบุแนวทางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องตามหลัก 3R คือ การลด (Reduce) ลดการบริโภค ไม่ซื้อของที่ฟุ่มเฟือย ถ้าจำเป็นต้องซื้อให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยไม่มีสารอันตรายและสามารถนำมารีไซเคิลได้ การใช้ซ้ำ (Reuse) ยืดอายุการใช้ด้วยการซ่อมแซม และการการรีไซเคิล (Recycle) ขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้องปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น การเผาสายไฟเพื่อนำทองแดงไปขายจะทำให้เกิดไอระเหยของพลาสติกและโลหะซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง การเผาแผงวงจรเพื่อหลอมตะกั่วและทองแดงจะทำให้ไอตะกั่วแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจและอากาศ สะสมในดินน้ำกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร การใช้กรดสกัดโลหะมีค่าจากแผงวงจรโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียจะทำให้น้ำเสียปนเปื้อนลงในดินและแหล่งน้ำ เป็นต้น
กลไกทางกฎหมายในการจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ.…. ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการและส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายทั้งฉบับ และปรับชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....”
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเข้าไปสู่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แล้ว โดยกฎหมายดังกล่าวนี้ จะมาช่วยจัดการปัญหาซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งหรือกำจัดแบบไม่ถูกวิธี เข้ากระบวนการให้ถูกวิธีมากขึ้น มีศูนย์กลางในการรวบรวมและรับซื้ออย่างเป็นระบบ รวมทั้งช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ซ้ำได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
Basel Convention (UNEP) http://www.basel.int
The Global E-Waste Monior 2017
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
http://library2.parliament.go.th/ebook/content-ebbas/2559-nicha.pdf
แนวทางการรับมือปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย สํานักวิชาการ สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา
http://library.senate.go.th/document/Ext4246/4246717_0002.PDF
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปจบอยู่ที่ใด
http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/toxics/electronics/where-does-e-waste-end-up/
กฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลไกใหม่บังคับผู้ผลิตซื้อคืนซากผลิตภัณฑ์
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS