กทม.ยันซุเปอร์-ค้าปลีก-ตลาดสดเปิด

ผู้ว่ากรุงเทพฯยันสั่งปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่ม 22 วัน เริ่ม 22 มี.ค. -12 เม.ย. 63 เว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารหิ้วกลับบ้าน ตลาดสดยังเปิดได้

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หารือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 กระจายขยายวงกว้าง และเปิดภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติสั่งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563

โดยมีการออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) สรุปว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) อันเป็นโรคติดต่ออันตรายตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และพบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ การคมนาคม และการท่องเที่ยว และมีความหนาแน่นของประชาการสูง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว การควบคุมโรคอย่างทันเวลาและจำกัดการชุมนุมของประชาชนเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดขยายไปในวงกว้างจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดโอกาสการแพร่งระบาดของโรคในถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง

อาศัยอำนาจตามความมาตรา 35(1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครี้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 จึงให้ยกเลิกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 และให้ปิดสถานที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 ดังต่อไปนี้

1. ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหาร เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหารในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม)

2. ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น)

3. พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ

4. ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

5. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม

6. สถานที่บริการสักผิวหนัง หรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย

7. สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

8. สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม

9. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต

10. สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

11. สระว่ายน้ำ หรือกิจการอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

12. สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่

13. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา

14. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรศการ

15. สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา

16. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม

17. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)

18. สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ำ ดัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

19. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด

20. สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร

21. โรงมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)

22. สถานที่ออกกำลังกาย

23. สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ

24. สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย

25. สนามกีฬา

26. สนามม้า

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณะชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนี่งแสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังขอความร่วมมือหน่วยงานเอกชนให้อนุญาตพนักงานทำงานที่บ้าน ส่วนหน่วยงานของรัฐให้ใช้วิธีเหลื่อมเวลาหรือสลับวันการทำงาน ตามความเหมาะสม ส่วนระบบขนส่งมวลชนขอให้จัดเว้นระยะที่นั่งเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทางไปในที่มีคนหนาแน่น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment