งง??ไทยปราบโกง ยิ่งแก้อันดับยิ่งร่วง

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์กรความโปร่งใสนานาชาติได้ประกาศดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นประจำปีพ.. 2562 ซึ่งมีการจัดอันดับ 180 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ผลปรากฎว่า

ดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยได้คะแนนเท่าเดิมคือ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 แต่อันดับแย่ลงจากอันดับที่ 99 เป็นอันดับที่ 101

หากดูข้อมูลย้อนหลังไปจนถึงปีพ.. 2555 หากมองโลกในแง่ดีก็คงจะสรุปได้ว่าดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยไม่ได้แย่ลงแต่อย่างใด สามารถรักษาคะแนนไว้ได้ค่อนข้างคงที่ แต่หากมองโลกบนความเป็นจริงจะพบว่าไทยเราติดกับกับคอรัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศปัญหาหนึ่งแบบดิ้นไม่เห็นทางหลุด ดังนั้นเป้าหมายของแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติซึ่งตั้งเป้าให้ไทยมีอันดับคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นในปีพ.. 2580 ให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของโลก จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

ไทยเข้าร่วมวัดดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 ซึ่งในปีนั้นมีประเทศเข้าร่วมวัด เพียง 41 ประเทศ ไทยโปร่งใสเป็น อันดับที่ 34 ได้คะแนนเพียง 2.79 จากคะแนนเต็ม 10 หลังจากนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันคะแนนดัชนีภาพลักษณ์ของไทยไม่เคย ได้เกิน 3.8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 หรือไม่เคยได้เกิน 38 คะแนนเมื่อมีการเปลี่ยนคะแนนเต็มให้เป็น 100 คะแนนเลย สะท้อนว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 เป็นต้นมาการปราบคอรัปชั่นของประเทศไทยเรา “สอบตก” มาโดยตลอด

แม้ว่าไทยจะมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 และแม้ว่า ปปช.จะบอกว่ามี ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 จนปัจจุบันก้าว เข้าสู่ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตระยะ 3 เข้าไปแล้วนั้นก็ไม่ได้ทำให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยเราดีขึ้นแต่อย่างใด

และถึงแม้ไทยจะมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พร้อมๆกับมีผู้ตรวจการแผ่นดิน ในช่วงปีพ.ศ. 2542 เป็นต้นมา มี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในปีพ.ศ. 2545 และมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ทุจริตภาครัฐ (ปปท.) ในปีพ.ศ. 2551 หน่วยงานเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถทำให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยเราดีขึ้นจนผ่านเกณฑ์ครึ่งหนึ่งหรือ 50 คะแนนได้เลย ระหว่างปีพ.ศ. 2542 จนถึงปีล่าสุดคะแนนของไทยแกว่งอยู่ในช่วงแคบๆระหว่าง 32 ถึง 38 คะแนนเท่านั้น และตลอดระยะ เวลา 23 ปีที่ผ่านมามีเพียง 3 ปีเท่านั้น ที่คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยเรามีคะแนนสูงสุดคือ 38 คะแนน

การแก้ปัญหาคอรัปชั่นของไทยจะยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นไปอีกเมื่อพิจารณาดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของเวียดนามซึ่งวันนี้บริหารเศรษฐกิจและการศึกษาได้ดีขึ้นอย่างมากจนโลกต้องจับตามอง เพราะเวียดนามซึ่งเคยได้ 33 คะแนนอันดับที่ 117 เมื่อปีที่แล้วแพ้ประเทศไทย มาปีนี้แซงประเทศไทยไปได้แล้วโดยได้ 37 คะแนน เป็นอันดับที่ 96 ทั้งๆที่คะแนนและอันดับของเวียดนามตามหลังหรือแย่กว่าไทยเรามาโดยตลอด คำทำนายของผมที่บอกว่า “ระวังนะภายในปีพ.ศ. 2593 เวียดนามจะชนะไทยในทุกมิติ” จึงเป็นเรื่องที่ใกล้ความจริงเข้าไปอีกหนึ่งก้าวอย่างน่าตกใจ

อินโดนีเซีย ยังคงทำได้ดีต่อเนื่องเรื่องการปราบคอรัปชั่น ปีล่าสุดได้ 40 คะแนนเป็นอันดับที่ 85 ดีขึ้นต่อเนื่องจากปีพ.ศ. 2561 ที่ได้ 38 คะแนน อันดับที่ 89 แซงไทยห่างออกไปอีก เรื่องนี้คงต้องยกเครดิตให้กับประธานาธิบดีมือสะอาด โจโค วิโดโด้ เพราะในปีพ.. 2557 ที่เขาเป็นประธานาธิบดีปีแรกนั้น (ปีเดียวกับที่ไทยเรามีคสช.) อินโดนีเซียได้เพียง 34 คะแนนเป็นอันดับที่ 107 ยังแพ้ไทยซึ่งได้ 38 คะแนน อันดับที่ 85 แต่ด้วยความตั้งใจจริงของโจโควี่ที่จะปราบคอรัปชั่นและความเข้มแข็งขององค์กรปราบคอรัปชั่นของอินโดนีเซียที่ชื่อ องค์กรถอนรากถอนโคนคอรัปชั่น (Corruption Eradication Commission : KPK) จึงทำให้ทั้งคะแนนและอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของอินโดนีเซียค่อยๆ แซงประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.. 2559 เป็นต้นมา

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ผมเขียนบทความในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เอาไว้ว่า มาเลเซียซึ่งแม้วิกฤติการคอรัปชั่น 1 MDB จะจบ ลงไปพร้อมๆกับ วิกฤติทางการเมืองและการกลับมาของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ แต่ก็ยังเร็วเกินไปกว่าที่คะแนนดัชนี ภาพลักษณ์คอรัปชั่น และอันดับจะปรับตัวดีขึ้น ปีล่าสุด (2561)ได้ 47 คะแนน อันดับที่ 61 ดีเป็นอันดับ 3 ของ AEC ต้องจับตาดูว่า มาเลเซียจะสามารถ กลับไปถึงจุดที่เคยได้คะแนนมากกว่า 50 คะแนนเหมือนในอดีต ที่ดร.มหาเธร์เคยทำได้หรือไม่ผลปรากฎว่า ดร.มหาเธร์ทำได้ เพราะในปีพ.. 2562 มาเลเซียได้ 53 คะแนนเป็นอันดับที่ 51 คะแนนทะลุ 50 คะแนนไปได้แล้ว ตอกย้ำสิ่งที่ทั้งโลกเชื่อตรงกันอีกครั้งว่าการปราบคอรัปชั่นจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ “ผู้นำประเทศต้องมีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอรัปชั่นหรือมี Political Will นั่นเอง”

สิงคโปร์ก็เป็นประเทศตัวอย่างอีกหนึ่งประเทศที่ผู้นำมี Political Will ที่จะปราบคอรัปชั่นและปราบสำเร็จถึงแม้จะเคยมีการคอรัปชั่นหนักหนาสาหัสเหมือนประเทศไทย และปีนี้สิงคโปร์ก็ยังสามารถรักษาแชมป์ประเทศโปร่งใสที่สุดใน AEC และเอเชียได้ 85 คะแนนเท่าเดิมกับปีที่แล้ว แต่อันดับความโปร่งใสร่วงลงมาหนึ่งอันดับอยู่ที่ 4 ของโลกร่วมกับสวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ ตามหลังที่หนึ่งของโลกคือเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ซึ่งโปร่งใสที่สุดในโลกร่วมกันที่ 87 คะแนน โดยมีฟินแลนด์โปร่งใสเป็นลำดับที่สามของโลกด้วยคะแนน 86 คะแนน

หากดูข้อมูลย้อนหลังไปถึงปีพ.ศ. 2555 จะเห็นทั้งคะแนนและอันดับที่น่าประทับใจของสิงคโปร์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์สามารถพัฒนาประเทศไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วไปได้และมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกจากการจัดอันดับ 2019 Global Competitiveness Index : GCI ของ World Economic Forum ขณะที่ไทยเรามีขีดความสามารถในอันดับที่ 40

บรูไนได้ 60 คะแนน อันดับที่ 35 ลดลงจากที่เคยได้ 63 คะแนนและอันดับที่ 31 เมื่อปีที่แล้ว แต่ถือว่ายังสามารถรักษาตำแหน่งรองแชมป์ความโปร่งใสใน AEC เอาไว้ได้เช่นเดิม ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 เป็นต้นมาบรูไนยังไม่เคยได้คะแนนต่ำกว่า 55 คะแนนเลย ทั้งนี้ต้องยกให้เป็นเครดิตของสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ แต่เพียงผู้เดียวเพราะบรูไนเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ฟิลิปปินส์ซึ่งปีที่แล้วคะแนนและอันดับเท่ากับประเทศไทย แต่ปี 2562 นี้คะแนนลดลงเหลือ 34 คะแนน อันดับร่วงลงไปอยู่ที่ 113 เมื่อนายโรดริโก้ ดูเตอร์เต้เข้ามาเป็นประธานาธิบดีในช่วงกลางปีพ.ศ. 2559 นั้น สถานการณ์การปราบคอรัปชั่นของฟิลิปปินส์ทำท่าจะดีขึ้นเพราะเขาได้ลงมือปราบปรามและวิสามัญผู้ค้ายาเสพติดไปนับเป็นพันๆรายและเริ่มการปราบปรามคอรัปชั่น การพนัน แต่ด้วยความสนิทสนมระหว่างเขาและครอบครัวมาร์กอส จึงทำให้เขามีความโน้มเอียงช่วยเหลือครอบครัวมาร์กอสมาโดยตลอด เช่นการอนุญาตให้ฝังร่างอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในสุสานวีรชนได้ ทั้งๆที่ประชาชนร่วมกันคัดค้านมานานเกือบสามสิบปี ต่อมาก็เป็นเรื่องที่ศาลฟิลิปปินส์ตัดสินคดีคอรัปชั่นของอีเมลด้า มาร์กอสแบบปล่อยให้เธอหลุดคดีไปทีละคดีสองคดีแบบค้านความรู้สึกประชาชน และนั่นน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนและอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นยังไม่ดีขึ้น

ส่วนสปป.ลาวและเมียนมาได้ 29 คะแนนเท่ากันและเท่าเดิมทั้งสองประเทศ เป็นอันดับที่ 130 ของโลกดีขึ้นสองอันดับทั้งสองประเทศเช่นกัน แม้คะแนนจะดูไม่ค่อยสูง แต่เมื่อดูคะแนนเก่าในปีพ.. 2555 เมียนมาซึ่งเคยได้เพียงแค่ 15 คะแนน อันดับที่ 172 เกือบบ๊วยในโลก และคะแนนเก่าของสปป.ลาวที่เคยได้แค่ 21 คะแนน อันดับที่ 160 ก็ต้องถือว่าทั้งสองประเทศทำได้ดีและมาได้ไกลมากแล้ว ตรงกันข้ามกับกัมพูชาที่ปีนี้ได้คะแนนเท่าเดิมคือ 20 คะแนน อันดับร่วงลงหนึ่งอันดับไปอยู่อันดับที่ 162 ทั้งๆที่กัมพูชาในอดีตเคยได้คะแนนสูงกว่าทั้งเมียนมาและสปป.ลาว

ประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกหกที่ทำผลงานได้ดีที่สุดก็คือนิวซีแลนด์ที่ได้แชมป์โลก 87 คะแนน ตามมาด้วยออสเตรเลียที่ได้ 77 คะแนนอันดับที่ 12 ญี่ปุ่นได้ 73 คะแนนได้อันดับที่ 20 เกาหลีใต้ ได้ 59 คะแนนดีขึ้นสองคะแนนได้อันดับที่ 39 ส่วนจีนได้คะแนนเพิ่มขึ้นอีกสองคะแนนมาเท่ากับอินเดียซึ่งได้เท่าเดิมคือ 41 คะแนนได้อันดับที่ 80 เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการคอรัปชั่นของไทยเอาไว้ มาถึงปลายเดือนมกราคมปีพ.ศ. 2563 เนื้อหายังคงถูกต้องและใช้วิเคราะห์ได้อยู่ จึงขอหยิบเอามาให้อ่านกันอีกครั้งเพื่อปิดท้ายบทความนี้

สถานการณ์คอรัปชั่นในไทยเลวร้ายถึงจุดต่ำสุดแล้ว เหตุเพราะ

1 ไทยยังไม่เคยมีผู้นำที่มือสะอาดและมีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอรัปชั่นให้ได้สำเร็จ นับเป็นโชคร้ายของ ประเทศเพราะที่ผ่านมาผู้นำทั้งที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารและมาจากการเลือกตั้ง ล้วนเป็นคนที่ “ปราบคอรัปชั่นด้วยปาก” ทั้งสิ้น ฮ่องกง สิงคโปร์และเกาหลีใต้ซึ่งเคยมีการคอรัปชั่นสูงมากเช่นเดียวกับไทย แต่เมื่อได้ผู้นำประเทศที่มือสะอาดและมีความตั้งใจจริงในการปราบคอรัปชั่น ผู้นำประเทศเหล่านั้นทำเหมือนๆ กันคือปฏิรูปหน่วยงานปราบคอรัปชั่นและยืนเป็น “กำแพงเหล็ก” ให้หน่วยงานปราบคอรัปชั่นยืนพิงได้อย่าง หนักแน่นจนไม่มีใครมาแทรกแซงการทำงานได้ การปราบคอรัปชั่นจึงทำได้สำเร็จในที่สุด

2 หน่วยงานปราบคอรัปชั่นในเมืองไทยโดยเฉพาะปปช.นั้นยังยึดติดอยู่กับการ “ปราม” การคอรัปชั่นมาก กว่าการ “ปราบ” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างมาก เพราะบทเรียนจากประเทศต่างๆที่เคยมีปัญหาเรื่อง การคอรัปชั่นและแก้ได้สำเร็จ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองและเป็นสังคมอุปถัมภ์คล้าย เมืองไทยล้วนแต่ใช้ยุทธศาสตร์ “ปราบ” คอรัปชั่นก่อนทั้งสิ้น ที่น่ากังวลอย่างมากก็คือหน่วยงานปราบคอรัปชั่นเหล่านี้ ทั้งรับรู้มีข้อมูลทั้งเคยไปดูงานหน่วยงานปราบคอรัปชั่นในต่างประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ยังคงยึดติดกับแนวคิด “ปราม” มากกว่า “ปราบ” มาโดยตลอดและไม่คิดจะเปลี่ยน ดังนั้นถ้าหากไม่ “ปฏิรูป” ทั้งตัวบุคคลและยุทธศาสตร์แล้ว ไทยเราจะไม่มีวันปราบคอรัปชั่นได้สำเร็จอย่างแน่นอน

3 หน่วยงานปราบคอรัปชั่นในไทยยังขาดความโปร่งใสในการทำงาน ยังไม่มีระบบที่เปิดโอกาสให้หน่วยงาน อื่น สื่อมวลชนและประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานเหล่านั้นได้ว่ามีประสิทธิภาพ และโปร่งใสหรือไม่ ถ้าหากหน่วยงานปราบคอรัปชั่นกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียเอง ก็จะไม่มีใครสามารถตรวจ สอบได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงหลังๆที่หน่วยงานปราบคอรัปชั่นทั้งหลายมีท่าทีที่ชวน ให้สงสัยถึงความเป็นองค์กรที่ดี มีจริยธรรมและโปร่งใสมากขึ้นเรื่อยๆ

4 ในอดีตสื่อมวลชนไทยยังมีจริยธรรมและมีความกล้าในการที่จะต่อสู้กับการคอรัปชั่น แต่ในปัจจุบันนอกจาก สื่อมวลชนจะไม่มีความกล้าหาญที่จะแฉการคอรัปชั่นเหมือนในอดีตแล้ว สื่อมวลชนบางส่วนยังใช้ความเป็นสื่อ ไปแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรจะได้จากนักการเมือง ภาครัฐและเอกชนอีกด้วย

5 ภาคเอกชนไทยปัจจุบันมีความ “ด้านได้อายอด” มากยิ่งขึ้นจนเห็นได้ชัด ขาดทั้งจริยธรรมและความละอายใจกระโดดเข้า มาร่วมคอรัปชั่นกับรัฐบาลและภาครัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจกันอย่างครึกโครมมากกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก

6 คนไทยส่วนมากยอมรับเรื่องการคอรัปชั่นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว ต่างจาก ประเทศที่ปราบคอรัปชั่นได้สำเร็จซึ่งคนของเขา “จะไม่ยอมทน” ต่อการคอรัปชั่นเป็นอันขาด คนไทยส่วนมาก นอกจากจะยอมรับแล้วยังยินยอมเป็นส่วนหนึ่งของการคอรัปชั่นที่ทำกันในทุกสังคมทุกอาชีพในไทยไปแล้ว

หากยังปล่อยให้สถานการณ์คอรัปชั่นของไทยเป็นเช่นนี้อีกต่อไป ไทยเราคงหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับวิกฤติ ครั้งใหญ่อย่างแน่นอน ครั้งนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายในการปราบคอรัปชั่นในไทย ซึ่งจะต้องเริ่มต้นด้วยการ มีผู้นำที่มือสะอาดและมีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอรัปชั่น และปฏิรูปการปราบคอรัปชั่นทั้งระบบโดยด่วน”


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สถานการณ์คอร์รัปชันในไทยเลวร้ายถึงจุดต่ำสุดแล้ว เหตุเพราะ http://pineapplenewsagency.com/th/c40/

ดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น พ.ศ. 2558-2560 http://pineapplenewsagency.com/th/c48/

คอร์รัปชั่นไทย ใครว่าดีขึ้น? ดูตัวเลขยืนยันกัน http://pineapplenewsagency.com/th/c74


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment