คลังแจงปมภาษีหุ้น

กระทรวงการคลังชี้แจงเกี่ยวกับการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา (Grace Period ประมาณ 90 วัน)”

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยแบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้

ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.05 (ร้อยละ 0.05 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตราร้อยละ0.1 (ร้อยละ 0.11 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่

1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น

2. สำนักงานประกันสังคม

3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

7. กองทุนการออมแห่งชาติ

8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น

อนึ่ง ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก”

การยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ ของไทยสูงขึ้นจากร้อยละ 0.17 เป็นร้อยละ 0.22 แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.29 และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ร้อยละ0.38 แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.20 เล็กน้อย ทั้งนี้ ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ ร้อยละ 0.055 ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 0.195 ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ได้มีการนำเสนอข่าวการเก็บภาษีหุ้น ว่าจะมีการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริง คือ มิได้ยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่ข่าวได้นำเสนอ ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment