ธ.ก.ส.ช่วยภัยแล้ง ยืดหนี้มีสินเชื่อฉุกเฉิน

ธ.ก.ส. ออกมาตรการขยายเวลาชำระหนี้ เตรียมวงเงินกู้ 5.5หมื่นล้าน เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ย 0% ในปีแรก และเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต ดอก 5% คาดช่วยเกษตรกรกว่า 1 ล้านราย

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สินเดิม เบื้องต้นคาดว่ามีเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ไม่สามารถทำการผลิตหรือผลิตผลได้รับความเสียหาย จำนวนกว่า 1 ล้านราย

โดย ธ.ก.ส.จะขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระออกไปก่อนอีกระยะหนึ่ง พร้อมจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อใหม่ไว้ 50,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือ ค่าลงทุนในการผลิตทดแทนส่วนที่เสียหาย ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพในครัวเรือนและป้องกันปัญหาการเป็นหนี้นอกระบบ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค หรือเพื่อการเกษตร ค่าจัดหาพันธุ์พืช หรือเตรียมดินในการผลิตรอบใหม่ ค่าจัดหาน้ำและอาหารสำรองให้กับปศุสัตว์ รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0 ในปีแรก และปีที่ 2 – 5 คิดดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ร้อยละ7) จ่ายสินเชื่อตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2562- 31 ธันวาคม 2562

นอกจากนี้ยังเตรียมสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต ไว้อีก 5,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการผลิตหรือปรับเปลี่ยนการผลิตที่สามารถลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง เช่น การลงทุนในระบบน้ำ การผลิตการเกษตรในรูปแบบที่ใช้น้ำน้อย เป็นต้น รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR - 2 กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี

โดยก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ได้มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ที่ประสบภัย ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเกษตรกรลูกค้า และสำรวจความเสียหาย พร้อมจัดหาถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม ถังน้ำ ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพื่อนำไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และในกรณีที่เกษตรกรทำประกันภัยพืชผล ธ.ก.ส.จะเร่งประสานงานให้มีการจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรโดยเร็วต่อไป

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส.จึงอยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางในการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งโดยเร็ว หลังจากมีแนวโน้มว่าจะมีพื้นที่ภัยแล้งในหลายจังหวัดและทุกหน่วยงานกำลังเร่งสำรวจความเสียหาย

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความกังวลในเรื่องหนี้สินของเกษตรกร


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment