เร่งรัฐหามาตรการกระตุ้นใช้เหล็กลวดในประเทศดูแลผู้ประกอบการ

นายกสมาคมเหล็กลวดไทย เรียกร้องรัฐบาล เร่งหามาตรการเพิ่มการใช้กำลังการผลิตเหล็กลวดในประเทศ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมอยู่รอด ลั่นมาตรการ Made in Thailand โครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ ยังไม่เพียงพอ ชี้กำลังในผลิตในประเทศมีพร้อม แต่ไม่ได้ใช้ หลังมีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ดั้มราคาในตลาด

นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ นายกสมาคมเหล็กลวดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กลวดไทย กำลังเผชิญความเดือดร้อน เพราะมีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ทั้งจากจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย เข้ามาตีตลาด เสนอขายในราคาที่ต่ำ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้ผลิตเหล็กลวดไทย และภาพรวมอุตสาหกรรมอยู่รอด

โดยข้อมูล ณ มกราคม-พฤษภาคม 2566 มีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ในปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก มีการนำเข้าจากจีนมากถึง 218,502 ตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าเพียง 95,924 ตัน เพิ่มมากขึ้นถึง 128% นำเข้าจากอินโดนีเซีย 69,944 ตัน ขณะที่ปีก่อนนำเข้าเพียง 25,211 ตัน เพิ่มขึ้น 177% และจากมาเลเซีย 69,440 ตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนนำเข้า 44,175 ตัน เพิ่มขึ้น 57%

"แปลกหรือไม่ ที่อุตสาหกรรมเหล็กลวดของไทย มีกำลังการผลิต 2.6 ล้านตันต่อปี มีความสามารถในการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น และอินเดีย แต่กลับมีการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 30% " นายธีรยุทธ กล่าว

แม้ที่ผ่านมารัฐบาล จะออกมาตรการ Made in Thailand ให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของภาครัฐ ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลควรหาทางเพิ่มการใช้กำลังการผลิต เช่น กระตุ้นการส่งออก โดยพิจารณายกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมในการส่งออก ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ให้เหมาะสมกับการแข่งขันทางอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมประเทศอื่น รวมถึงขยายขอบข่ายของนโยบาย Made in Thailand ให้รวมถึงโครงการลงทุนร่วมทุนรัฐและเอกชน และให้ลงไปถึงการกำหนดให้ใช้วัตถุดิบต้นน้ำที่ผลิตได้ในประเทศด้วย

นายธีรยุทธ ยังได้ยกตัวอย่างการช่วยเหลือจากภาครัฐในหลายๆ ประเทศว่า หลายประเทศหากเผชิญกับสถานการณ์แบบที่เกิดขึ้นแบบนี้ ภาครัฐจะเข้าช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ใช้มาตรการส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ ใช้มาตรการด้านภาษีกับสินค้านำเข้า ประเทศแคนาดา มีการประกาศเก็บภาษีเพิ่ม ร้อยละ 25 ในสินค้าเหล็กบางประเภทที่มีการนำเข้าเพิ่มสูงผิดปกติ เป็นต้น

“กลุ่มผู้ผลิตเห็นด้วยกับนโยบายการค้าเสรี ที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุน แต่ขอให้เป็นการค้าเสรีที่เป็นธรรม ไม่มีการทุ่มตลาด "

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ โดยไม่ผ่านการขอใบอนุญาตนำเข้า ทั้งที่สินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำเป็นสินค้าภายใต้มาตรฐานบังคับ ภายใต้การกำกับดูแลของ สมอ. อย่างเข้มงวด และยังพบว่ามีการหลบเลี่ยงการเสียอากรการทุ่มตลาด โดยปรับลดธาตุคาร์บอนเจืออัลลอยด์เพิ่มแทน อาจกระทบต่อคุณสมบัติของเหล็กลวดคาร์บอนสูง ซึ่งเป็นการตั้งใจหลบเลี่ยงกฎหมายรูปแบบหนึ่ง

“ผมอยากให้มีการผลักดันการใช้สินค้า มอก. บังคับ อยากเห็นคนในประเทศอุ่นใจในเลือกใช้สินค้า มอก. ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างสินค้านำเข้า และสินค้าที่ผลิตในประเทศคือ ผู้ผลิตในประเทศ อยู่ตรงนี้ หากพบปัญหาคุณภาพสินค้า ก็พร้อมที่จะรับคืนหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ต่างจากการส่งคืนไปประเทศอื่นซึ่งทำได้ยาก เรียกร้องความรับผิดชอบก็ยาก และสินค้าเหล็กลวดเป็นสินค้าทีเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ หากเกิดความเสียหาย จะส่งกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง” นายธีรยุทธ กล่าว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment